การปกป้องคุ้มครองเด็ก และสิทธิเด็ก

     มูลนิธิอุ่นรักษ์เพื่อพัฒนาเด็กได้เล็งเห็นว่า สภาพสังคมไทยในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ตามสภาพสิ่งแวดล้อมและกาลเวลา ยุคโลกาภิวัฒน์ ทำให้สังคมไทยที่ส่วนใหญ่เคยเป็นสังคมชนบทต้องกลายมาเป็นสังคมเมือง การเอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือ เกื้อกูล ความเอื้ออาทร ภายในชุมชนและสังคมมีลดน้อยลง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ค่านิยมตลอดจนประเพณีวัฒนธรรมของสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป ส่วนใหญ่มักจะมุ่งเน้นค่านิยมทางด้านวัตถุ มีการกระทำที่นำไปสู่ความเสื่อมของศีลธรรมจริยธรรมมากขึ้น ด้วยปัญหาของผู้หญิงหรือแม้กระทั่งเด็ก ที่ถูกละเลยทอดทิ้ง ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ในสังคมไทยเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจจะเป็นเพราะความก้าวหน้าของการสื่อสารติดต่อกันด้วยระบบอินเตอร์เน็ต มีการเล่นเกมส์บนอินเตอร์เน็ตคล้ายของจริง ทำให้ภาพลามกปรากฏเผยแพร่ได้ง่าย ทั้งในรูปของอินเตอร์เน็ตและแผ่นซีดี ซึ่งมีขายทั่วไปในทุกพื้นที่ตลาดหรือการนำภาพโป๊ที่แอบถ่ายปรากฏบนอินเตอร์เน็ต เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชนทำได้ง่ายมากขึ้น

     ปัญหาของเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศเราจะพบมากเกือบทุกเพศทุกวัย  จากการสำรวจทั่วโลกพบว่า เด็กผู้หญิงอย่างน้อย 1 ใน 10 คน และเด็กผู้ชายอย่างน้อย 1 ใน 20 คน เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual abuse) มาก่อน และเด็กที่ถูกกระทำดังกล่าวมักจะส่งผลต่อพฤติกรรมการแสดงออก คือ ไม่มั่นใจในตนเอง ขาดความเชื่อมั่น ขาดความนับถือตนเอง มีความก้าวร้าว ไม่ไว้ใจผู้อื่น บางรายอาจจะเป็นโรคซึมเศร้า หรือบางรายอาจต้องหันมาพึ่งพายาเสพติด หรือเครื่องดื่มมึนเมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของเด็ก

     ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า มีเด็กเพียง 4 ใน 1,000 คน เท่านั้นที่บอกได้ว่าตนเองเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศมาก่อน และในจำนวนดังกล่าว เมื่อได้รับการอบรมเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศแล้ว จำนวนเด็กที่สามารถบอกเล่าได้ว่าตนเองถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือไม่เพิ่มขึ้นถึง 14 ใน 1,000 คน เด็กที่ได้รับการอบรมมีความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์เสี่ยงได้ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้รับการอบรม และจากการจำลองสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศแล้ว   เด็กเหล่านั้นยังสามารถป้องกันตนเองได้ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้รับการอบรมเรื่องนี้อีกด้วย

     อย่างไรก็ตาม โครงการอบรมให้ความรู้ในโรงเรียนดังกล่าวจะสามารถลดการถูกล่วงละเมิดทางเพศในเด็กได้หรือไม่นั้น ยังไม่ชัดเจนนัก คณะวิจัยยังได้เสนอแนะให้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในเรื่องนี้เพื่อยืนยันผลการวิจัยด้วย พวกเขากล่าวว่า “แม้ว่าการอบรมเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศจะประสบความสำเร็จในขอบเขตจำกัดอยู่เพียงสถานการณ์ไม่หลากหลายมากนัก แต่ก็มีแนวโน้มว่าทักษะต่าง ๆ ที่เด็ก ๆ ได้เรียนรู้จะช่วยเด็ก ๆ พ้นจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศได้”

สิทธิเด็ก

     เด็กในความหมายนี้คือผู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี เด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า หรือ หากจะเปรียบเด็กเหมือนผ้าขาว หากเราอยากให้ผ้านั้นเป็นสีอะไร ก็อยู่ที่ผู้ใหญ่จะแต่งแต้ม เด็กแต่ละคนมีความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน ประสบการณ์ก็แตกต่างกัน เด็กบางคนเกิดมาในครอบครัวที่ดี และในขณะเดียวกันอาจจะมีเด็กที่เกิดมาในสังคมที่โหดร้าย ก็เป็นได้

     การที่จะให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ที่ดีในสังคม ผู้ใหญ่ก็ต้องปฎิบัติต่อเด็กอย่างเหมาะสม ให้ความสำคัญและให้ความเคารพกับสิทธิแก่เด็กกันมากขึ้น

     มูลนิธิอุ่นรักษ์เพื่อพัฒนาเด็ก จึงได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้ความรู้เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็ก 4 ประการ

1. สิทธิในการอยู่รอด (Right of Survival)

  • สิทธิในการมีชีวิตรอดและส่งเสริมชีวิต
  • ได้รับโภชการที่ดี
  • ได้รับความรักความเอาใจใส่จากครอบครัวและสังคม
  • ได้รับการบริการด้านสุขภาพ
  • การให้ทักษะชีวิตที่ถูกต้อง
  • การให้ที่อยู่อาศัยและการเลี้ยงดู

2. สิทธิในการปกป้องคุ้มครอง (Right of Protection)

  • การคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติ
  • การล่วงละเมิด การทำร้าย การกลั่นแกล้งรังแก
  • การถูกทอดทิ้ง ละเลย
  • การใช้แรงงานเด็ก
  • การเอารัดเอาเปรียบทางเพศ

3. สิทธิในการพัฒนา (Right of Development)

  • ได้รับการศึกษาทั้งใน/นอกระบบ
  • เข้าถึงข่าวสารที่เหมาะสม
  • เสรีภาพในความคิด มโนธรรม และศาสนา
  • พัฒนาบุคลิกภาพ ทั้งทางสังคมและจิตใจ
  • พัฒนาสุขภาพร่างกาย

4. สิทธิในการมีส่วนร่วม (Right of Participation)

  • การแสดงทัศนะของเด็ก
  • เสรีภาพในการติดต่อข่าวสารข้อมูล
  • มีบทบาทในชุมชน
  • แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่มีผลกระทบต่อเด็ก

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้